แหล่งท่องเที่ยว
วัดสีหยัง

ที่ตั้ง 

ตำบลบ่อตรุ  อำเภอระโนด  จังหวัดสงขลา

ประวัติความเป็นมา 

วัดสีหยังเป็นพุทธสถานของชุมชนสมัยประวัติศาสตร์รัฐโบราณที่มีร่องรอยว่าเป็นชุมชนคูน้ำคันดินในสมัยนั้น ต่อมาได้กลายเป็นวัดสำคัญในสมัยอยุธยา เดิมวัดสีหยังล้อมรอบด้วยคูเมืองทั้งสี่ด้าน แต่สภาพปัจจุบันคงเหลือร่องรอยคูเมืองไว้เพียงบางส่วน มีคูเมืองด้านทิศใต้และด้านทิศตะวันออกที่อยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์

คูเมืองด้านทิศเหนือ มีร่องรอยคูเมืองกว้างประมาณ ๓๐ เมตร และมีวัชพืชน้ำขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป

คูเมืองด้านทิศตะวันออกอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีวัชพืชขึ้นปกคลุมบ้างเล็กน้อย ขนาดคูเมืองกว้างประมาณ๓๐ เมตร ยาว ๓๕๐ เมตร แต่ไม่ปรากฏคันดินชัดเจน

คูเมืองด้านทิศใต้อยู่ติดด้านหลังอาคารโรงเรียนวัดสีหยังขนาดคูเมืองกว้างประมาณ ๓๐ เมตรมีคันดินสูงประมาณ  ๒-๓  เมตร และคงเหลือคูเมืองด้านทิศนี้อยู่ประมาณ ๔๐ เมตรปัจจุบันมีการก่อสร้างอาคารศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชนเทศบาลตำบลบ่อตรุ 

คูเมืองด้านทิศตะวันตกปัจจุบันมีทางหลวงสาย ๔๐๘ สงขลา-ระโนด ตัดผ่านไปตามแนวเหนือ-ใต้ จึงทำให้แนวคูเมืองบางส่วนถูกตัดออกและส่วนที่เหลือถูกถมปรับในบางส่วน

บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมุมคูเมือง ปรากฏสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ ๔๐ เมตร      ยาว ๖๐ เมตร

สิ่งสำคัญ

ปรากฏชื่อวัดสีหยังในแผนที่ภาพและกัลปนาวัดว่า “วัดสีกุหยัง”ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในพ.ศ. ๒๓๒๐ โบราณสถานภายในวัดสีหยังนั้น ปรากฏโบราณสถานตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังพบโบราณสถานที่อยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์อีกด้วย

. ซากฐานเจดีย์มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีเสาติดผนังมีบันไดทางขึ้นอยู่ทางด้านหน้าเพียงด้านเดียว เป็นหลักฐานรูปแบบสถาปัตยกรรมของชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของภาคใต้ที่หลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีร่องรอยการก่ออิฐถือปูน ปูนที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นปูนที่ผสมปะการังฐานเจดีย์มีขนาดกว้าง๗.๖๓ เมตร ยาว ๗.๗๖ เมตร ฐานสูงประมาณ ๑.๘๖ เมตร มีบันไดทางขึ้นด้านทิศเหนือ อิฐที่ใช้ก่อ มีขนาดกว้าง ๑๖ เซนติเมตร ยาว ๓๒เซนติเมตร หนา ๖ เซนติเมตร นอกจากนี้ บริเวณฐานเจดีย์ยังสำรวจพบเศษภาชนะดินเผาแบบเนื้อดิน ภาชนะเคลือบและกระปุกเคลือบด้านขนาดเล็กด้วย

๒. อุโบสถเก่า ก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่บนฐานปัทม์ที่สูง มีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียว เจาะช่องหน้าต่างด้านละ ๒ ช่อง บริเวณเหนือหน้าต่างมีลายปูนปั้นเป็นวงโค้ง บริเวณหน้าบันเป็นรูปลายก้านขดสี่วง  รูปรามสูรขว้างขวาน และเมขลาล่อแก้ว มีใบเสมาคู่บนฐานก่ออิฐสูงล้อมรอบอุโบสถ

๓. ศาลาไม้หรือวิหารโถงไม้ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของฐานเจดีย์ หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ยอดหลังคาประดับด้วยรูปครุฑและพญานาคด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมของวัดแห่งนี้  นับได้ว่าเป็นวัดที่แสดงรูปแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นผสมผสานกับรูปแบบศิลปกรรมที่เป็นแบบนิยม ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้เป็นอย่างดี

การกำหนดอายุสมัย 

พุทธศตวรรษที่๑๖  -  พุทธศตวรรษที่ ๒๕

การประกาศขึ้นทะเบียน 

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดสีหยัง ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๘๐ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๘  หน้า ๑๒๗ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒ งาน ๘๕ ตารางวา

ประกาศขอบเขตโบราณสถานวัดสีหยังเพิ่มเติม ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๔๔ ตอนพิเศษ ๘๑ ง วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๐ หน้า ๖ พื้นที่โบราณสถาน ก. ประมาณ ๒ งาน ๘๕ ตารางวาพื้นที่โบราณสถาน ข. ประมาณ ๑ ไร่ ๕๑ ตารางวาพื้นที่โบราณสถานรวมประมาณ ๑ ไร่ ๓ งาน ๓๖ ตารางวา

ประวัติการอนุรักษ์

รายละเอียดของการอนุรักษ์โบราณสถาน

พ.ศ. ๒๕๒๘  กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน (วัดสีหยัง)

พ.ศ. ๒๕๕๑  กรมศิลปากรดำเนินการบูรณะอุโบสถ ตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา